สาเหตุของมลพิษทางอากาศ



มลพิษทางอากาศอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น  ซึ่งอากาศเสียที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก เพราะแหล่งกำเนิดอยู่ไกล และปริมาณที่เข้าสู่สภาพแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์มีน้อย ส่วนกรณีที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิต จากกิจกรรมด้านการเกษตร จากการระเหยของก๊าซบางชนิด ซึ่งเกิดจากขยะมูลฝอยและของเสีย ฯลฯ

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
. แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจากภาคเกษตรกรรม มาเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจและความเจริญ มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเข้าขั้นวิกฤต และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การจราจรที่ติดขัดทำให้รถเคลื่อนตัวได้ด้วยความเร็วต่ำ มีการหยุดและออกตัวบ่อยครั้งขึ้น น้ำมันถูกเผาผลาญมากขึ้น การสันดาปของน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ และมีการระบายสารมลพิษทางท่อไอเสียในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบริเวณที่ใกล้ถนนที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว
สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน, สารประกอบไฮโดรคาร์บอน, ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอน, สารตะกั่ว และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยที่สารพวกไฮโดรคาร์บอนนั้น ประมาณ ๕๕% ออกมาจากท่อไอเสีย, ๒๕% ออกมาจากห้องเพลา ข้อเหวี่ยง และอีก ๒๐% เกิดจากการระเหยในคาร์บูเรเตอร์ และถังเชื้อเพลิง ส่วนออกไซด์ของไนโตรเจน คือ ไนตริกออกไซด์ (NO) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และไน ตรัสออกไซด์ (N2O) เกือบทั้งหมดออกมาจากท่อไอเสีย เป็นพิษต่อมนุษย์โดยตรง นอกจากนี้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซินชนิดซุปเปอร์ยังเพิ่มปริมาณตะกั่วในอากาศอีกด้วย

. แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรม
มลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรม เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในบรรยากาศ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนโดยทั่วไป หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ
มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมแบ่งได้เป็น สารเคมี และควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ตัวอย่างโรงงานที่ผลิตสารเคมี ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า โรงงานทําเบียร์ โรงงาน สุรา โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ โรงงานถลุงแร่ โรงงานย้อมผ้า โรงงานทําแก้ว โรงงานผลิตหลอดไฟ โรงงานผลิตปุ๋ย และโรงงานผลิตกรด ส่วนเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกรเผาไหม้ของสารเหล่านี้ จะไปเพิ่มสารมลพิษต่างๆ ในอากาศ อาทิ สารประเภทไฮโดรคาร์บอน, ออกไซด์ของไนโตรเจน และกํามะถัน
เชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมมีอยู่ ๓ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
  • เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง
  • เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว ได้แก่ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล
  • เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซ LPG

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังมีแหล่งกำเนิดย่อยอื่นๆ อีก เช่น
  • แหล่งกําเนิดฝุ่นละอองต่างๆ ได้แก่ บริเวณที่กําลังก่อสร้าง โรงงานทําปูนซีเมนต์ โรงงานโม่หิน โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตโซดาไฟ เหมืองแร่ เตาเผาถ่าน โรงค้าถ่าน เมรุเผาศพ
  • แหล่งหมักหมมของสิ่งปฏิกูล ได้แก่ เศษอาหาร และขยะมูลฝอย
  • ควันไฟจากการเผาป่า เผาไร่นา และจากบุหรี่
  • การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ก่อให้เกิดละอองกัมมันตรังสี
  • การตรวจและรักษาทางรังสีวิทยา การใช้เรดิโอไอโซโทปที่ขาดมาตรการที่ถูกต้องในการป้องกันสภาวะอากาศเสีย
  • อากาศเสียที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟป่า กัมมันตรังสีที่เกิดตามธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ความเป็นพิษเนื่องจากสาเหตุข้อนี้ค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากต้นกําเนิดอยู่ไกล จึงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมของมนุษย์และสัตว์ได้น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น