ผลกระทบของมลพิษทางน้ำ

          ผลกระทบของภาวะมลพิษทางน้ำ มีหลายด้าน ดังนี้

๑. ด้านระบบนิเวศ น้ำเสียเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำและบริเวณใกล้เคียง ทำให้เสียความสมดุลทางธรรมชาติ เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม น้ำเสียทําให้สัตว์น้ำลดปริมาณลง หรืออาจทำลายพืชและสัตวน้ำเล็กๆ ที่เป็นอาหารของปลาและตัวอ่อน ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการประมงและเศรษฐกิจ และอาจทําให้ปลาสูญพันธุ์ได้


๒. ด้านการสาธารณสุข น้ำเสียเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ทําให้เกิดโรคระบาด เช่น โรคอหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด เป็นแหล่งเพาะเชื้อยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคบางชนิด เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก และสารมลพิษที่ปะปนในแหล่งน้ำ ถ้าเราบริโภคทําให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมินามาตะ เกิดจากการรับประทานปลาที่มีสารปรอทสูง โรคอิไต-อิไต เกิดจากการได้รับสารแคดเมียม


๓. ด้านการเกษตร น้ำเสียมีผลทั้งต่อการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ น้ำเสียที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียที่มีความเป็นกรดเป็นด่างสูง น้ำที่มีปริมาณเกลืออนินทรีย์ หรือสารพิษสูง ฯลฯ ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียและเกิดจากผลของการทําเกษตรกรรมนั่นเอง เช่น การชลประทาน สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากคุณสมบัติน้ำในธรรมชาติประกอบด้วยเกลืออนินทรีย์เจือปนอยู่ โดยเฉพาะเกลือคลอไรด์ ขณะที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร น้ำจะระเหยเป็นไอโดยธรรมชาติ ปริมาณเกลืออนินทรีย์ซึ่งได้ระเหยจะตกค้างในดิน เมื่อมีการสะสมมากเข้า ปริมาณเกลือในดินสูงขึ้น ทําให้ดินเค็ม ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ปริมาณเกลืออนินทรีย์ที่ตกค้างอาจถูกชะล้างภายหลังฝนตก หรือโดยระบายน้ำจากการชลประทาน เกลืออนินทรีย์ก็จะถูกถ่ายทอดลงสู่แม่น้ำลำคลองในที่สุด


๔. ด้านการผลิตน้ำเพื่อบริโภคและอุปโภค น้ำเสียกระทบกระเทือนต่อการผลิตน้ำดื่มน้ำใช้อย่างยิ่ง แหล่งน้ำสําหรับผลิตประปาได้มาจากแม่น้ำ ลําคลอง เมื่อแหล่งน้ำเน่าเสียเป็นผลให้คุณภาพน้ำลดลง ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตเพื่อให้น้ำมีคุณภาพเข้าเกณฑ์มาตรฐานสำหรับน้ำดื่มก็จะเพิ่มสูงขึ้น


๕. ด้านทัศนียภาพ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ใช้ในการคมนาคม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ใช้เล่นเรือ ตกปลา ว่ายน้ำ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น