ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

          จากสาเหตุของปัญหาดังที่ได้กล่าวมาในบทความที่แล้ว ทําให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง อันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สําคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ   
          เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ
          พื้นที่ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรมและมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า การบุกรุกทำลายป่าเพื่อต้องการที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตร การทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา เป็นต้น
          การที่พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศลดลงอย่างมาก ได้ส่งผล กระทบต่อการควบคุมระบบนิเวศโดยส่วนรวมอย่างแจ้งชัด เช่น กรณีเกิดวาตภัยและอุทก-ภัยครั้งร้ายแรงในพื้นที่ภาคใต้ ปัญหาความแห้งแล้งในภาคต่างๆ ของประเทศ และปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาภัยธรรมชาติดังกล่าวได้มีแนวโน้มของการเกิดถี่ขึ้น อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร ชีวิตและทรัพย์สิน
          ทั้งยังมีปัญหาการพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดิน ทั้งโดยธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทำลายป่า เผาป่า การเพาะปลูกผิดวิธี เป็นต้น ก่อให้เกิดการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ลดน้อยลงความสามารถในการผลิตทางด้านเกษตรลดน้อยลงและยังทำให้เกิดการทับถมของตะกอนดินตามแม่น้ำ ลำคลอง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เป็นเหตุให้แหล่งน้ำดังกล่าวตื้นเขิน รวมทั้งการที่ตะกอนดินอาจจะทับถมอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัย และที่วางไข่ของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นตัวกั้นแสงแดดที่จะส่องลงสู่พื้นน้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ
          นอกจากนี้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน อันเนื่องมาจากสาเหตุดั้งเดิมตามธรรมชาติ คือ การที่มีสารเป็นพิษเกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดดิน เช่น มีโลหะหนัก มีสารประกอบที่เป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้ดินเค็ม ดินด่าง ดินเปรี้ยวได้ โดยเฉพาะปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่เหมาะสม และขาดการจัดการที่ดี เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำในบริเวณที่มีเกลือหินสะสมอยู่มาก น้ำในอ่างจะซึมลงไปละลายเกลือหินใต้ดิน แล้วไหลกลับขึ้นสู่ผิวดินบริเวณรอบๆ การผลิตเกลือสินเธาว์ในเชิงพาณิชย์ โดยการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มหรือตาก ทำให้ปัญหาดินเค็มแพร่ขยายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น ยังมีสาเหตุที่เกิดจากสารพิษและสิ่งสกปรกจากภายนอกปะปนอยู่ในดิน เช่น ขยะจากบ้านเรือน ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สารเคมีตกค้างจากการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

๒. ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน เสียง และความร้อน ฯลฯ อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สาเหตุของมลพิษเป็นผลจากการ กระทําของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีการเพิ่มจํานวนอย่างรวดเร็ว และมนุษย์มีบทบาทที่แตกต่างไปจากธรรมชาติอื่นๆ ในหลายกรณี กล่าวคือเมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ความต้องการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการดํารงชีวิตและสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น มนุษย์มีความสามารถในการนําเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ได้แก่ ทําการเกษตร การประมง สร้างเมือง สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ สร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสิ่ง ต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เรือ และอื่นๆ อีกมากมาย ทําให้เกิดความไม่สมดุลในธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงทางด้านสิ่งแวดล้อม และเรียกรวมปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ปัญหามลพิษ ซึ่งมีหลายลักษณะหลายประเภท ล้วนแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ได้ ดังนั้นหากมนุษย์ไม่มีจิตสํานึกร่วมกันในการแก้ไขและรักษาสภาพแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้มนุษย์เราต้องประสบปัญหาในอนาคตมากขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น