สารมลพิษ

          คําว่า “มลสาร” หรือ “สารมลพิษ” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Pollutant” หมายถึงสิ่งใดๆ ที่ประกอบด้วย อินทรียวัตถุ หรืออนินทรียวัตถุทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ที่มนุษย์ได้ทํา ใช้ บริโภค และทิ้ง จากอาคารบ้านเรือน ชุมชน โรงงาน การขนส่ง ฯลฯ เข้าสู่สภาพแวดล้อมแหล่งต่างๆ แล้วก่อให้เกิดปัญหามลพิษ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางดิน เป็นต้น

ลักษณะของมลสารที่มีอันตรายสูง คือ

๑. มีผลกระทบทางชีววิทยาอย่างมีนัยสําคัญที่ความเข้มข้นต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลในระยะสั้น (Short-term effect) หรือผลในระยะยาว (Long-term effect) ก็ได้
๒. สามารถกระจายตัว (Dispersion) ได้ดีในอากาศ หรือละลายได้ในน้ำ
๓. มีแนวโน้มที่จะสะสม (Accumulate) อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งสารเหล่านี้มักจะมีคุณสมบัติละลายได้ในไขมัน
๔. มีคุณสมบัติคงตัว (Persistent) ในสิ่งแวดล้อมหรือสามารถแตกตัวหรือรวมตัวกับสารอื่นๆ ทําให้ได้สารที่มีพิษ มีคุณสมบัติคงตัว สามารถแพร่กระจายไปถึงกลุ่ม เป้าหมาย (Targets) หรือสะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตได้
๕. มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์หรือสมดุลของระบบนิเวศของโลก
๖. เป็นผลจากการผลิตเป็นจํานวนมากขององค์ประกอบที่สําคัญของสังคม ผลเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมถูกละเลยจากการประเมินค่าในแง่ของต้นทุนและผลประโยชน์


          จากคําจํากัดความเบื้องต้น สารมลพิษจําแนกได้เป็น ๒ ชนิด คือ

๑. พวกที่ย่อยสลายไม่ได้ด้วยวิธีการทางชีววิทยา (Non-degradable หรือ Non-biodegradable pollutants) ได้แก่ โลหะ หรือสารวัตถุต่าง ๆ เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ดีดีที เป็นต้น

๒. พวกที่ย่อยสลายได้ด้วยวิธีการทางชีววิทยา (Degradable หรือ Biodegradable pollutants) ได่แก่ขยะมูลฝอย น้ำทิ้งจากโรงงาน บ้านเรือน ชุมชน ฯลฯ

          สารมลพิษยังสามารถแยกย่อยเฉพาะ ตามลักษณะของการเกิดภาวะมลพิษได้หลายแบบ เช่น สารมลพิษทางอากาศ สารมลพิษทางน้ำ สารมลพิษทางดิน สารมลพิษทางอาหาร สารมลพิษทางเสียง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น